วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ท่องเที่ยว รอบบ้านฮ่อมดอย พิพิธภัณฑ์ ผ้าป้าดา

เราเริ่มต้นจากใกล้บ้านฮ่อมดอยที่สุด คือ พิพิธภัณฑ์ป้าดา มุลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านฮ่อมดอย 500 เมตร แม่เสาวนีย์ บันสิทธิ์ ลูกสาวของป้าดา ดำเนินกิจการทอผ้า ด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมสืบมา ปัจจุบัน บ้านไร่ไผ่งามเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณที่มีคุณภาพ และมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มแม่บ้านซึ่งได้รับถ่ายทอดการทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากป้าดา ร่วมกันสืบทอดทอผ้าต่อมา ภายในบ้านมีกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านใกล้เคียงมานั่งทอผ้า หลังบ้านเป็น โรงย้อมและโรงเก็บพืชพรรณต่างๆที่ใช้ย้อมผ้า

 

ผ้าฝ้ายทอมือจอมทอง เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงอย่างมาก เป็นหัตถกรรมที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก ด้วยการทอผ้าฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ และมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในนามที่รู้จักบ้านไร่ไผ่งาม ของป้าแสงดา บันสิทธิ์ อันเป็นมรดกที่มีคุณค่าอย่างยิ่งที่ชาวจอมทองไม่มีวันลืม ... ป้าแสงดา บันสิทธิ์” กับชีวิตหญิงทอผ้า ...อ.จอมทอง กิโลเมตรที่ 69 เป็นที่ตั้งของ “บ้านไร่ไผ่งาม” และ “พิพิธภัณฑ์บ้านป้าดา” ตัวบ้านไม้สักสีน้ำตาลเข้มตั้งตระหง่านสง่างามและเคร่งขรึม สมกับที่เคยเป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ก่อนที่จะถูกขายให้กับนายดาบมาลัย บันสิทธิ์ - สามีของป้าแสงดา ด้วยเพราะลูกชายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ รู้จักและสนิทสนมกับนายดาบมาลัยเป็นอย่างดี ป้าแสงดา บันสิทธิ์ เจ้าของบ้านไร่ไผ่งาม เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2462 ในหมู่บ้านที่มีกี่ทอผ้าอยู่ในบ้านทุกหลังคาเรือน ได้เห็นกระบวนการทอผ้ามาแต่เยาว์วัย จับกี่หัดลองทอครั้งแรกตอน 5 ขวบ และได้ศึกษาวิธีการทอจากครูผู้ชำนาญที่สุดในหมู่บ้านทั้งด้านการปั่นด้ายและ การทอผ้า ทำให้ป้าแสงดาทั้งรักและชำนาญในการทอผ้าฝ้ายเป็นอย่างมาก จนอายุ 17 ปี ป้าแสงดาสมรสกับนายดาบมาลัย บันสิทธิ์
นายตำรวจจาก จ.ราชบุรี นายดาบมาลัยไม่ใคร่เห็นด้วยกับการทอผ้าของภรรยานัก เพราะเห็นว่าเสียเวลา ผืนหนึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นผ้า แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ผ้ากลายเป็นสินค้าขาดตลาด ป้าแสงดาแก้ปัญหาโดยลงมือทอผ้าเปลือกไม้ และนำไปตัดเป็นชุดให้สามีไปทำงาน ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก กระทั่งนายดาบมาลัยถึงแก่กรรม ป้าแสงดาจึงได้นำเงินที่มีอยู่ไปซื้อกี่ทอผ้า และชักชวนแม่บ้านจากบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมกันทอผ้า ในช่วงต้นป้าดาจำเป็นต้องต่อสู้ทางการตลาดค่อนข้างหนัก กว่าจะทำให้ผ้าฝีมือแม่บ้านในกลุ่มเป็นที่รู้จักและมีคนต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความพยายามศึกษาพัฒนาสีที่ใช้ย้อมให้สวยงามแปลกตาคงทน รวมทั้งประดิษฐ์ลวดลายให้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ปลายทางแห่งความพยายามของป้าดา ก็สามารถทำให้ผ้าของบ้านไร่ไผ่งามติดตลาดได้สำเร็จ มีแม่บ้านมาร่วมเป็นสมาชิกร่วมทอผ้ากับบ้านไร่ไผ่งามถึง 42 คน โดยใช้ใต้ถุนบ้านป้าเป็นโรงทอ จนกระทั่งป้าแสงดาได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) ในปี พ.ศ.2529 ด้วยฝีมือการทอผ้าฝ้ายทอมือที่แสนละเอียดและพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแกะฝ้ายออกจากฝัก ดีดฝ้ายให้เป็นปุย หีบฝ้าย แยกเมล็ดฝ้าย ปั่นให้ออกมาเป็นเส้น เอาเส้นฝ้ายที่ได้มาไปย้อม จนมาขึ้นกี่ แล้วถึงจะลงมือทอออกมาเป็นผืนผ้า ตลอดชีวิตของ “ป้าดา” นั้น คนใกล้ชิดได้เปิดเผยว่า คล้ายกับว่าป้าแต่งงานกับงานทอ กับผืนผ้า เพราะป้าจะทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันพัก ป้าไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยเห็นป้าทำตัวหม่นหมอง ไม่เคยนอนกลางวัน เมื่อตื่นเช้ามา ป้าก็จะทำงานทั้งวัน เรื่อยไปจนตะวันตกดิน เป็นเช่นนี้ทุกวันตลอดชั่วชีวิต 73 ปีของป้า จุดเด่นของผ้าฝ้ายทอมือฝีมือป้าแสงดาอยู่ที่ลายทอละเอียด และสีย้อมที่ได้มาจากสมุนไพรชนิดต่างๆ สีย้อมผ้าของป้าดาไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีการช่างตวงวัดว่าส่วนผสมกี่กรัมถึงจะออกมาเป็นสีใดๆ ป้าจะใช้สายตาและความรู้สึกว่าดีไหม สวยไหม พอหรือยัง และในทุกๆ วัน ป้าจะจับโน่นผสมนี่ รวมทั้งหาพืชใหม่ๆ มาทดลองย้อมเพื่อจะได้สีใหม่ๆ ดังนั้น การพัฒนาของผ้าใน “บ้านไรไผ่งาม” จึงไม่เคยหยุดอยู่กับที่


ประวัติและผลงาน         
             นางแสงดา  บันสิทธิ์  เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๖๒  ที่บ้านห้วยม่วงหมู่ ๖ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่   เป็นธิดาคนเดียวของ นายหมวก กับ นางคำมูล  มีไฝ
          ครอบครัวของนางแสงดา  อยู่ในหมู่บ้านที่มีหูกทอผ้าทุกหลังคาเรือน  แม่ของนางแสงดาเป็นครูคนแรกที่สอนให้ทอผ้ามาตั้งแต่อายุ ๕-๖ ขวบ  ครูที่สอนการปั่นด้ายให้มีขนาดเส้นเล็กสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น  คือ  แม่ปู จากบ้านห้วยเติ๊ก ส่วนผู้ให้ความรู้เรื่องการทอผ้าและการย้อมสีผ้า คือ อุ๊ยเลี่ยม หรือ ยายเลี่ยม  ผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษในการทอผ้าและย้อมสีผ้าด้วยสมุนไพรแบบโบราณ
          นางแสงดาแต่งงานกับนายดาบมาลัย  บันสิทธิ์  ขณะที่มีอายุได้ ๑๗ ปี มีธิดาเพียงคนเดียว คือ นางเสาวณีย์  ไชยซาววงศ์  ผู้เป็นทายาทในการทอผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิม  ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓   นายดาบมาลัยได้เสียชีวิตลง  นางแสงดาจึงเป็นผู้ดูแลครอบครัวเพียงลำพัง  ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งการทอผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิมที่เรียนรู้มาตั้งแต่เล็ก  นางแสงดาได้เริ่มการทอผ้าอย่างจริงจัง
โดยชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นใกล้เคียง มารวมกลุ่มทอผ้า  เริ่มจากกี่ทอผ้า ๔-๕ หลัง จนขยายจำนวนเป้น ๓๐ หลัง  ผ้าฝ้ายทอมือของนางแสงดาเป็นที่ยอมรับกันว่ามีคุณภาพดี  มีสีสวยซึ่งเป็นสีธรรมชาติ  แปลกตาน่าใช้  สีไม่ตกไม่ซีด  เนื้อผ้าเรียบซักแล้วไม่หดตัว  ไม่เปลี่ยนรูปทรง  มีลวดลายไม่ซ้ำใคร
          ผลงานการผลิตผ้าฝ้ายที่มีคุณภาพนี้มาจากความคิดและความสามารถของนางแสงดาผู้ ศึกษาค้นคว้าอยู่ตลอดเวลาคิดปรับปรุงทั้งการทอผ้าและการย้อมสี  โดยใช้เทคนิควิธีแบบพื้นบ้าน  ผสมผสานกับการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องพอดีกับความต้องการและ การดำรงชีวิตตามสภาพธรรมชาติ  ไม่มุ่งแต่ประโยชน์จนทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม
          จากประวัติและผลงานของนางแสงดา  บันสิทธิ์  แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้า  การย้อมผ้าด้วยสีสมุนไพรและการประดิษฐ์คิดลวดลายผ้าได้อย่างงดงาม  ล้ำเลิศ  ยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้  ผลงานทอผ้าที่เผยแพร่อออกไปมากมายนับแสนๆเมตร   นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์  ส่งเสริม   และพัฒนาศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านแบบครบวงจรแล้ว  สิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์อันสำคัญ  คือ  การใช้สีจากสมุนไพรล้วนๆ ในการย้อมผ้า  โดยไม่ใช้สารเคมีเจือปนรวมทั้งการประดิษฐ์คิดลวดลายผ้าได้อย่างหลากหลายดุจ สายน้ำ  กล่าวได้ว่า "ผ้าหนึ่งหมื่นพับ  จะมีหนึ่งหมื่นสี  หนึ่งหมื่นลวดลาย" ท่านจึงได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ 

การเดินทาง
กิโลเมตรที่ 69-70 ตามเส้นทางเชียงใหม่-ฮอด และเลี้ยวซ้ายเข้าไปหมู่บ้านอีกประมาณ 1 กม. ทางเข้าหมู่บ้านร่มรื่นด้วยเงาไม้ไผ่สองข้างทาง ที่สวยงามมาก                         

     ณ วันนี้ แม่เสาวนีย์ บันสิทธิ์ ลูกสาวของป้าดา ยังคงสืบทอดฝีมือ การทอผ้าอย่างเยี่ยมยอด ดูแลทุกสิ่ง ทุกอย่าง ให้ยังคงเหมือนเดิม มีสิ่งเดียวที่แตกต่างไป คือ ลูกค้าของบ้านไร่ไผ่งาม ที่มีทั่วทุกมุมโลก บ้านไร่ไผ่งาม เป็น เบรน ผ้าฝ้ายท่อมือที่ยิ่งใหญ่ และงดงาม เราบ้านฮ่อมดอย ขอเชิญทุกท่านเชิญสัมพัสพิพิธภัณฑ์ ที่ทรงคุณค่า นี้


"ตลอดชีวิตของป้า  ป้าไม่เคยนอนกลางวัน 
 ป้ามีความสุขมีความเพลิดเพลินกับการทำงาน 
 ไม่เคยง่วงเหงา 
ถึงเวลากลางคืน  เมื่อสะสางงานเสร็จ 
ป้าจะหลับอย่างมีความสุขและปกติ
จะตื่นแต่เช้าตรู่เป็นอย่างนี้ทุกวัน"
นางแสงดา  บันสิทธิ์


พิพิธภัณฑ์ป้าดา มุลนิธิแสงดา บันสิทธิ์
บ้านไร่ไผ่งาม  บ้านเลขที่  ๑๐๕ หมู่ที่ ๘  ถนนเชียงใหม่-ฮอด  ตำบลสบเตี๊ยะ  
อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่  ๕๐๑๖๐

สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มระดมทุน  กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

โทรศัพท์  ๐๒-๒๔๗-๐๐๒๘ ต่อ ๔๑๓๐ และ ๐๒-๒๔๗-๐๐๑๓

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

โทรศัพท์ (๐๕๓) ๒๑๖-๓๗๑


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

กระทรวงวัฒนธรรม









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น